B2S: ทางเล็กๆ ริมคลองตาหนัง

ต า ม ค ำ เ รี ย ก ร้ อ ง . . . บังบอกกลับทางเล็กนะป๋า ขอนะได้ไหม | เอางั้นเหรอ ได้สิจัดไป

สี่ ชั่วโมงในเมืองนครศรีธรรมราช

ลิกอร์ (Ligor) หรือลือฆอ ที่ชาวแหลมมลายูเรียก ตัวป๋าเองก็เรียกชื่อนี้มาตั้งแต่เด็กๆ


ชื่อ "นครศรีธรรมราช" น่าจะมาจากสร้อยพระนามของปฐมกษัตริย์ ในยุคที่ปกครอง นครศรีธรรมราช คือพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช คํานี้ แปลความได้ว่า "นครอันงานสง่าแห่ง พระราชาผู้ทรงธรรม" และธรรมของราชาแห่งนครนี้ก็คือ ธรรมแห่งพระพุทธศาสนา 

ถ้าจะเล่าเรื่องนี้คงต้องศึกษาและร่ายกันยาวเลยทีเดียว ทริปนี้พวกเรา (หมายถึง อาเยาะห์ต่วน ฟาอิซและป๋า) อยากจะปั่นเที่ยวย้อนรอยเมืองลือฆอ โดยมี บังดี้ Pakdee Pitsuwan เป็นผู้ปั่นนำชม พร้อมเล่าเรื่องเมืองเก่าให้พวกเราฟัง

จุดเริ่มต้นของพวกเราเริ่มจากบ้านบังดี้ ปอเนาะบ้านตาล (Pondok Bantam) ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองราวๆ 12 กิโลเมตร ก่อนออกได้ส่งข้อความนัดป้าจ๊อด ผู้ใหญ่อีกคนหนึ่งที่ป๋าและม่ามี้รู้จักว่าเรากำลังจะเข้าเมือง


ช่วงนอกเมืองก็ไม่พบปัญหาใดๆ พอใกล้เข้าเมืองพวกเราเริ่มพบปัญหามารยาทจากรถสองแถว นอกจากขับจอดปาดหน้าพวกเราแล้วยังเบรคจอดรับส่งผู้โดยสารขวางทันที ทำให้บังดี้เกือบชนท้ายรถสองแถวสองสามครั้ง พวกเราต้องปั่นกันระมัดระวังเพราะเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนกำลังเลิกงานและเลิกเรียนกัน ทั้งผู้คนและรถลาดูจะวุ่นวายพอๆ กันเพราะต่างคนต่างรีบ จุดหมายแรกของเราที่จะแวะคือกำแพงเมืองเก่า

ประตูชัยเหนือ หรือ ประตูชัยศักดิ์ เป็นประตูเมืองด้านทิศเหนือของเมือง

ด้านหลังเราคือแนวกำแพงเมืองเก่า

อาเยาะห์ต่วนกำลังถามข้อสงสัย

มาถึงที่กำแพงเมือง เราเดินชมพร้อมฟังเรื่องเล่าจากบังดี้ และหามุมถ่ายภาพเก็บเอาไว้ ฟาอิซพอมีโอกาสได้ลงจากที่นั่ง วิ่งเล่นและปีนป่ายตามประสาจอมแสบบางครั้งก็ต้องปรามให้เบาๆ ลง ในระหว่างที่ผู้ใหญ่ก็คุยกันไป


สะพานนครน้อย เป็นสะพานที่สร้างเพื่อทดแทนสะพานไม้เดิมที่ชำรุด และสร้างเป็นอนุสรณ์แค่เจ้าพระยาน้อย ผู้ซึ่งเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชคนที่ 3 ด้าน ซ้ายของสะพานนี้ใช้ข้ามคูเมืองที่ขุดล้อมเมืองระหว่างภายนอกกับภายใน ด้านซ้ายของสะพานเดิมทีจะมีศาลาตั้งไว้เพื่อให้ผู้คนที่จะเข้ามาในเมืองได้พักร่มแดด ผู้คนที่จะเข้าในเมืองจะต้องรอที่ศาลานี้ ต่างคนต่างมีเรื่องเล่ามากมายที่ศาลานี้ มีทั้งเรื่องจริงและเท็จ ทำให้ผู้คนเรียกศาลานี้ว่าศาลาโกหก



ที่ตั้งเดิมของศาลาโกหก

ป้าจ๊อดเลิกงานก็ตามมาสมทบ แรกๆ ฟาอิซเล่นตัวไม่ยอมเข้าใกล้เพราะไม่เคยเจอกัน ได้ลูกอมไปหนึ่งเม็ดก็ยอมคุยด้วย ยอมให้ถ่ายรูปคู่

ค่าตัวไม่แพง ลูกอมเม็ดเดียวเอาอยู่

ได้เวลาที่เราจะออกไปค้นหาเรื่องเล่าต่อ ป้าจ๊อดก็ขอตัวกลับบ้านเปลี่ยนเสื้อผ้า และนัดเจออีกครั้งตอนหกโมงครึ่งเพื่อทานมื้อเย็นกัน

จุดหมายที่สองที่เราจะแวะไปเป็นบ้านท่านขุนรัฐวุฒิวิจารณ์ เป็นเรือนโบราณทรงปั้นหยา อายุกว่า 100 ปี ที่เคยได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรม ดีเด่น ปี 2556 โดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์



มีความสนใจต้นไม้เป็นพิเศษ

ธรรมชาติของฟาอิซ


ได้เวลาไปตามหาร่องรอยของเครื่องเงิน พวกเราปั่นไปยังชุมชนที่อยู่หลังวัดพระธาตุ ที่ชุมชนนี้มีมุสลิมอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก พวกเราแวะเข้าซอยท่านร่ม เป็นซอยที่มีช่างฝีมือเรื่องเครื่องเงินชาวมุสลิมที่สืบทอดจากบรรพบุรุษ ว่ากันว่าบรรพบุรุษในสมัยนั้นอพยพมาจากเมืองมะละกา





จากที่นี่เราแวะหาเพื่อนนักปั่นของบังดี้ที่ปั่นก๊วนเดียวกันกับป้าจ๊อด แวะทักทายพูดคุุยเล็กน้อย ระหว่างรอเรามองเห็นเจดีย์วัดพระธาตุจึงเก็บรูปเอาไว้เพิ่ม

ฟ้าเริ่มหรี่แสงลงระหว่างทางที่เราจะไปกินมื้อเย็นกันจะผ่านย่านขายเครื่องถมเงิน เราแวะร้านในเครือญาติตระกูลพิศสุวรรณ เก็บภาพบรรยากาศรอบๆ พร้อมฟังเรื่องเล่าประกอบ

ที่สุดท้ายที่เราแวะเก็บภาพและฟังเรื่องเล่าคือ มัสยิดซอลาฮุดดิน เราเก็บภาพผืนใหญ่ที่ถูกวาดบนผนังอาคารตรงสี่แยก 

มัสยิดแห่งนี้เดิมทีเป็นที่ดินวัดร้าง ต่อมา ได้มีการสร้างมัสยิดขึ้นก่อนปี 2500 

มีเรื่องอีกมากมายที่น่าศึกษา.มีมุมมองอีกด้านหนึ่งของภาคใต้ที่เกี่ยวโยงกับมหาอำนาจนักล่าอนานิคมอีก  ใครสนใจก็ต้องค้นคว้าข้อมูลมาศีกษา และพินิจพิเคราะห์ถึงความเชื่ออย่างเป็นกลาง เพราะประวัติศาสตร์บ้านเรามักจะขึ้นอยู่กับว่าใครเขียนก่อนแล้วมีคนเชื่อก่อน

ฟ้ามืดลงสนิท แสงไฟถนนเริ่มสว่าง ได้เวลาที่นัดกับป้าจ๊อด พวกเราก็ปั่นกันมาถึงร้านพอดี

มื้อนี้ป้าจ๊อดขอเป็นเจ้าภาพเลี้ยงพวกเราทุกคน ต้องขอบคุณป้าจ๊อดที่เอ็นดูฟาอิซ

อิ่มกันแล้วก็ขอตัวกันแยกย้าย พวกเราปั่นกลับบ้านตาลเพื่อพักผ่อน เพราะสายๆ อีกวันเรามีทริปปั่นไปขุนน้ำคีรีวง


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้