ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

B2S: ทางเล็กๆ ริมคลองตาหนัง

ต า ม ค ำ เ รี ย ก ร้ อ ง . . . บังบอกกลับทางเล็กนะป๋า ขอนะได้ไหม | เอางั้นเหรอ ได้สิจัดไป

แหลมตาชี สวรรค์ของบัง

แหลมตาชี จังหวัดปัตตานี
มีนาคม 2018


พรุ่งนี้ตัดสินใจปิดร้านสักวัน สี่เดือนกับ 24 วันป๋าไม่เคยได้ปิดร้านเลย เราสองคนจะไปสำรวจสถานที่สำหรับแคมปิ้งกัน

เช้าวันพุธที่ 21 มีนาคม ตื่นเช้าเราสองคนรีบจัดการธุระของร้านที่ค้างไว้ให้แล้วเสร็จก่อนที่จะออกเดินทาง


ข้อตกลงก่อนไป

ก่อนเดินทางเราสองคนนั่งลงคุยกัน

"ซาฟิร...เรามีงบประมาณในการใช้เงินวันนี้แค่ 250 บาท รวมมื้อกลางวัน เย็น และขนมขบเคี้ยวระหว่างทาง"

"ทำไมเรามีเงินแค่นี้เองหรือครับป๋า"

"ไม่ใช่ครับ เรามีเงินมากกว่านั้น แต่การไปไหนเราต้องวางแผนการใช้ การกินให้พอเหมาะ"

"..." เงียบ เหมือนกำลังคิดอะไรอยู่

"ซาฟิรคิดว่าเราทำได้ไหม ป๋าว่าเราทำได้นะ" 

"ซาฟิรก็ว่าทำได้" 

"งั้นเราออกเดินทางกัน"


อีกสิบนาทีเก้าโมงเช้าเราออกจากร้านใช้เส้นทางผ่านทะลุ มอ. เพื่อขึ้นสะพานสูงแวะศึกษาเรื่องเกลือมาจากไหนกันก่อน และพิสูจน์คำเปรียบเปรยที่มาของ “ปัตตานีเป็นถิ่นเกลือหวาน”

เริ่มต้นการเดินทาง

นาเกลือ (ปัตตานี ถิ่นเกลือหวาน)

ปั่นมาถึงนาเกลือป๋าก็ชี้ไปให้ดู แล้วบอกกับซาฟิรว่าที่นี่เป็นนาเกลือที่ยังคงเหลืออยู่ในปัจจุบันนี้ ถ้าซาฟิรอยากรู้ป๋าจะจอดจักรยานพาซาฟิรลงไปคุยกับคุณครู (คนทำนาเกลือ) ลองไปสัมผัส ลองไปชิม และดูที่มาของน้ำที่ใช้ทำเกลือ

เกลือปัตตานีได้ชื่อว่าเป็นเกลือหวาน เพราะเป็นเกลือที่มีคุณภาพดีแตกต่างจากที่อื่นแม้จะมีรสเค็มเหมือนกัน แต่กลมกล่อมกว่า ชาวบ้านนิยมนำมาหมักปลา ทำน้ำบูดู ทำปลาแห้ง ดองผัก ผลไม้ คุณสมบัติพิเศษคือจะไม่ออกรสขม หากทำสะตอดอง จะได้ความกรอบ มัน เนื้อไม่เละ เป็นที่มาของคำเปรียบเปรยว่า ปัตตานีถิ่นเกลือหวาน

ฤดูการทำนาเกลือ ทำในหน้าแล้งตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายน

"ซาฟิร...ได้ชิมแล้วเป็นไงบ้าง"

"ไม่เค็มเลยป๋า" 

(เหมือนไม่มั่นใจ แต่หยิบมาชิมอีกหลายครั้ง ก็ยังยืนยันเหมือนเดิม)

ก่อนจะออกจากนาเกลือก็หยิบชิมอีกครั้ง แลบลิ้นให้ดูก็ยังยืนยันว่าไม่เค็ม

เดินไปหาเป้าหมาย

สัมผัสเม็ดเกลือก่อน

อมไว้ในปากเพื่อพิสูจน์

เริ่มเป็นเกล็ดเกลือ

เดินไปตามคันหน้า

จิ้มๆ แล้วหยิบมาชิม

ชาวนา ครูสอนซาฟิร

บ่อไหนเป็นเกลือแล้วก็จะหยุดชิม

อยากรู้อะไรเพิ่มต้องไปถามเอง

"เกลือเค็มไหมครับ" ลุงตอบ "ชิมดูลูก"

หยิบเกลือขึ้นมาชิมก่อน
ต้องอมนานๆ

สะพานไม้บ้านบานา

เป็นท่าเรือสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวแบบเชิงนิเวศน์ เราสองคนเคยแวะมาดูแสงแรก แต่ละครั้งที่มาที่นี่จะไม่ซ้ำแบบ เวลาดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้าก็สวยงามไม่แพ้กัน และทุกครั้งที่ผ่านเส้นทางนี้ป๋าก็จะแวะให้ซาฟิร หรือน้องฟาอิซ ได้เดินดูและเรียนรู้เรื่องธรรมชาติของ ป่าโกงกาง ปูปลาตีน และแมงกะพรุน

วันนี้แกล้งปั่นเลยไปก็มีเสียงซาฟิรดังขึ้นมา "ป๋าแวะก่อน ป๋าเลยทำไม" ป๋าก็แอบขำเพราะก่อนหน้านั้นป๋าถามว่าจะให้แวะไหม ดันตอบป๋าว่าไม่แวะเอง
พอซาฟิรทักขึ้นมาแล้วจะไม่แวะได้ยังไงในเมื่อซาฟิรต้องการ ป๋าก็ถือโอกาสพักหลบแดดไปในตัว น้ำขึ้นทำให้เราสองคนมองหาปลาตีนไม่เจอ ได้แต่นั่งชมวิวกินบรรยากาศกัน 

ก่อนจะออกจากสะพานไม้เราสองคนก็ได้ใช้เงินซื้อของกินกันครั้งแรกหมดไป 16 บาท เป็นค่าขนมของซาฟิร และกาแฟของป๋า 

ที่ร้านนี้มีของฝากที่ซาฟิรสนใจ และหยิบมาให้ป๋าถ่ายรูปเก็บไว้คือ ว่าววงเดือนที่ทำจากกะลามะพร้าว







เราสองคนออกจากสะพานไม้บ้านบานา ตอนสิบโมงเช้า แดดกำลังระอุเลย ป๋าเลือกป้่นออกมาใช้เส้นทางหลักปัตตานี-นราธิวาส ตั้งใจจะแวะมัสยิดกรือเซะแต่ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนแผนเพราะซาฟิรบอกว่าค่อยมาตอนละหมาดวันศุกร์ 

พอปั่นเข้าเขต อ.ยะหริ่ง ซาฟิรบอกว่าป๋าง่วงนอนแล้ว ยังไม่ทันถึงที่หมายที่เราจะแวะเลย อีกไม่ไกลนักก็จะถึงบ้านบังปาริแล้ว เห็นว่าไม่ไกลนักป๋าเลยปั่นมือเดียวอีกมือประคองซาฟิรไว้จนถึงบ้านบังปาริ พออุ้มออกจากจักรยานซาฟิรก็ตื่นทันที ป๋าเลยให้พักนอนเล่นไปก่อน 

ครอบครัวบังปาริน่ารักมากต้อนรับเราสองคนอย่างดี แถมจัดเสบียงให้เราสองคนชุดใหญ่เอาไปไว้ในตะกร้าเผื่อไว้กินระหว่างทาง เสียดายที่ป๋าไม่ได้เก็บภาพของกิน

ร้านครอบครัวปาริ แวอิสอ



น้ำแข็งใส

กล้วยทอด

ออกจากบ้านบังปาริมาเราสองคนก็แวะร้านสะดวกซื้อตามที่สัญญากับซาฟิรไว้ ซาฟิรอยากได้ขนมแบบ diy ที่นี่เราใช้เงินหมดไป 20 บาทตามกติกาของการเข้าร้านสะดวกซื้อ ป๋าซื้อน้ำดื่มเพิ่มอีก 3 ลิตรไว้ใช้กรณีหาน้ำจืดไม่ได้ ได้ของครบเราก็ออกปั่นกันต่อ ระหว่างทางแวะดูเรือประมง เรือกอและที่ใช้ในการท่องเที่ยว


เรือประมง

ข้าวเกรียบปลาหลังเขียว

ระหว่างปั่นซาฟิรเห็นแผงที่ตากแผ่นกลมบางแต่ไม่รู้ว่าเขาตากอะไรไว้ เกิดความอยากรู้ ป๋าเลยต้องวนกลับมาให้ดูพร้อมอธิบายให้ฟัง 

ที่ตากไว้คือข้าวเกรียบแผ่น ที่ปัตตานีมีข้าวเกรียบสองแบบ แบบแรกก่อนตากจะเรียกว่าข้าวเกรียบแท่ง มันจะนิ่มๆ สามารถนำเอาไปหั่นเป็นชิ้นหนาๆ แล้วทอด หรือเอาไปทำยำต่างๆ ก็ได้ เขาจะเรียกว่าปาลอกือโปะ (หัวข้าวเกรียบ) ส่วนอันที่เราเห็นเป็นแบบที่สอง เขาจะสไลด์เป็นแผ่นบางๆ เอามาตากแดดให้แห้งก่อนนำไปทอด เขาจะเรียกว่ากือโปะ (ข้าวเกรียบ) วิธีทอดที่ป๋าเห็นมีสองแบบ คือ ทอดด้วยน้ำมัน กับทอดด้วยทรายทะเล แต่เวลาอยู่กรุงเทพป๋าใช้ไมโครเวฟ เวฟให้ซาฟิรกิน






จบเรื่องข้าวเกรียบ เส้นทางที่เราปั่นก็จะเลียบชายฝั่งทะเลไปตลอด ซาฟิรบอก

"ป๋า...ซาฟิรตื่นเต้นจังเลยจะได้เล่นน้ำทะเลแลว เล่นเลยนะป๋าจอดเลย" 

"ยังไม่ทันถึงจุดหมายเลยครับ งั้นเราแวะหลบร้อนก่อนแล้วกันเที่ยงกว่าแล้วแดดกำลังแรงเลย" 

ได้ที่เหมาะกับการหลบแดด ซาฟิรก็หยิบขนม diy ขึ้นมาทำ ส่วนป๋าก็พักดื่มกาแฟ





ทางเลียบชายทะเล

เส้นทางสวยๆ เลียบชายหาด ลมพัดแรงต้องออกแรงปั่นมากกว่าปกติ วิวตรงไหนสวยก็จอดเก็บภาพ



แหลมตาชี

เป็นหาดทรายขาว ที่เกิดจากการก่อตัวของสันทรายที่ยื่นออกไปในทะเลในลักษณะสันดอน (Sand Spit) ไปในทะเลอ่าวไทยทางทิศเหนือ

และแล้วบ่ายสองโมงครึ่งเราสองคนก็มาถึงจุดหมายปลายทาง ที่นี่มีผู้คนมาเที่ยวน้อยมาก สุดถนนรถยนต์มีศาลาละหมาดทรงมัสยิดเล็กๆ และห้องน้ำที่ยังสร้างไม่เสร็จ มีท่าเรือประมงของชาวบ้าน เรามองหาจุดที่นักท่องเที่ยวเล่นน้ำกัน มีคนสองกลุ่มใต้ต้นสนจับกลุ่มปิคนิค เด็กๆ สามสี่คนกำลังเล่นน้ำอยู่ใกล้ๆ ป๋าเข็นรถจักรยานไปจอดใกล้ๆ ซาฟิรขอลงไปเล่นกับกลุ่มที่เล่นอยู่ก่อนแล้ว ป๋าก็อนุญาติเพราะป๋าก็จะลงด้วยแต่ขอพักขาก่อน


ยังไม่ทันป๋าจะลงไปเล่นน้ำด้วยเลย ก็มีคนใจดีเอาลูกชิ้นและน้ำมาแบ่งปันให้เราสองคนกิน ป๋าเลยเรียกซาฟิรให้ขึ้นมากินรองท้องก่อน ตรงข้ามที่เราเล่นคือท่าเรือน้ำลึกของเมืองปัตตานี เราสองคนเล่นน้ำที่นี่ได้สักพัก ป๋ามองออกไปไกลๆ เห็นมีคนเล่นน้ำอยู่ปลายแหลมตัดสินใจชวนลูกย้ายจุดเล่นน้ำ เพราะคนอื่นๆ ที่เล่นขึ้นกันหมดแล้ว อีกอย่างป๋าก็ไม่รู้ว่ามีทางที่จะไปยังปลายแหลมด้วย

เราสองคนเข็นจักรยานออกมาจากชายหาดที่เล่นถึงปลายถนนใหญ่ที่มีมัสยิดอยู่ เข็นเลาะไปด้านข้างเห็นถนนเล็กๆ ปูด้วยอิฐหนอนเราก็ขึ้นจักรยานปั่นกันไปแบบช้าๆ ที่นี่เหมือนกำลังจะพัฒนาคล้ายๆ ให้เป็นสวนสาธารณะเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ ไม่มีกำหนดการแล้วเสร็จ เราปั่นจนสุดถนนหนอนแล้วก็เข็นจักรยานลุยทรายเพื่อหาจุดที่ปลอดภัย พบเจอกลุ่มนักศึกษามากางเต้นท์แคมปิ้งกัน เราแบ่งปันขนมที่มีให้กับกลุ่มนี้ไปส่วนหนึ่ง แล้วสอบถามบรรยากาศในการมาแคมปิ้ง ลมจะแรงมากในตอนกลางคืน กลางวันตอนนี้ลมยังแรงเลยสังเกตจากธงที่ติดจักรยานเราจะสะบัดตลอดเวลา ซาฟิรหันมาบอกป๋าว่าขอเปลี่ยนสถานที่แคมปิ้งเป็นภูเขาแทน

เราลงเล่นน้ำกันสนุกถึงแม้จะเล่นกันสองคน ป๋าชวนซาฟิรเดินวิ่งแข่งกันไปปลายแหลม ดูซากเรือแล้วช่วยกันวิเคราะห์ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเรือ เสร็จแล้วเรากลับมาที่จักรยานแกะเสบียงกินกัน ทุกอย่างที่ครอบครัวบังปาริให้มาถุกจัดการภายในเวลาอันรวดเร็ว ซาฟิรติดใจถั่วเขียวต้มอยากกินอีก ขากลับขอแวะบ้านบังปาริอีก 

เราสองคนเล่นน้ำแบบไม่ดูเวลา พอดูเวลาอีกทีห้าโมงจะครึ่งแล้ว สามชั่วโมงที่เราอยู่ในน้ำสนุกจนลืมเวลาไปเลย จัดการเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่ เพราะที่นี่ยังไม่มีจุดบริการน้ำจืดและห้องน้ำ โชคดีที่น้ำทะเลไม่ทำให้เราเหนียวตัว ป๋าใช้น้ำที่สำรองมาสามลิตรราดลงบนผ้าอ้อมและเช็ดตัวให้ซาฟิร ตัวป๋าเองก็ทำเหมือนกัน แล้วก็เปลี่ยนชุดใหม่











ได้เวลากลับกันแล้ว

จัดการเก็บขยะที่เรานำมา และเศษแก้วที่ซาฟิรเจอในทะเลใส่ถุงเอาไปใส่ตะกร้าจักรยานเพื่อนำไปทิ้งถังขยะใหญ่ระหว่างทางกลับ ปั่นไปร้องเพลงไปจนถึงทางเชื่อมระหว่างถนนอิฐหนอนกับถนนใหญ่ เจอฝูงเจ้าถิ่นออกมาต้อนรับและคอยส่งเราสองคนกลับ



ออกมาได้ไม่ไกลนัก ราวๆ กิโลเมตรกว่า ซาฟิรบอก 

"ง่วงนอนแล้วป๋า" 

การนอนบนจักรยานคือธรรมชาติของลูกทุกคน ผ้าขาวม้าคืออุปกรณ์ช่วยในการนอนไม่ให้ตกจากจักรยาน


ด้วยแรงลมที่พัด และซาฟิรหลับอยู่ ทำให้ป๋าปั่นได้ช้ามาก ผ่านมาได้สิบกิโลเมตรถึงศูนย์พัฒนาประมงชายฝั่งก็ต้องจอดพัก ซาฟิรตื่นทันที ฟ้าเริ่มสลัวๆ พระอาทิตย์กำลังตก 




ชวนกันจินตนาการกับก้อนเมฆที่ก่อตัวว่ารูปร่างคล้ายอะไร มันเหมือนเราทำมือเหมือนไดโนเสาร์ เอ๊ะหรือว่าเหมือนงู ป๋าพักจนหายเมื่อยก็หันมาถามซาฟิรว่าเราพร้อมไปต่อแล้วยัง เราต้องแวะร้านค้าซื้อถ่านไฟฉายใส่ไฟหน้า ซาฟิรอยากได้ขนมที่ซาฟิรชอบไหม ทุกครั้งที่ซาฟิรขอซื้อขนมมักจะบอกป๋าว่าอยากได้ขนมที่ซาฟิรชอบ เราแวะใช้เงินไปอีก 17 บาท จัดการติดตั้งไฟหน้าเรียบร้อยเราก็เริ่มออกปั่น 

เส้นทางช่วงนี้จะสบายหน่อยเพราะเริ่มห่างจากทะเล ลมจะไม่ต้านเรามากนัก ความมืดเริ่มมาเยือนเราสองคน ปั่นได้ระยะทางซาฟิรเริ่มถามว่า

"เราจะถึงบ้านบังปาริกี่ทุ่ม" 

"ก่อนถึงจะเจอร้านสะดวกซื้ออีกร้านหนึ่งก่อน"

เราจะแวะซื้อเกลือแร่ของ และโยเกิร์ต เราใช้เงินไปที่ร้านนั้น 27 บาท

เกือบจะทุ่มหนึ่งเราก็มาถึงบ้านบังปาริ แวะนั่งคุยกันที่ร้านน้ำชาใช้เวลาราวๆ เกิอบชั่วโมงในการคุย ร่ำลาบังปาริแล้วเราก็ออกเดินทางกันต่อในความมืดแต่ไม่น่ากลัว






ระหว่างทางกลับเราเจอร้านนั่งเล่นเก๋ๆ ที่ทำให้ซาฟิรมีความสนใจ เป็นร้านรูปแบบ food truck ขอให้ป๋าวนกลับเพราะท้องซาฟิรเริ่มหิว เราสั่งขนมปังหน้านมกับช็อคโกแลต (ราคา 25 บาท) กินเล่นระหว่างซาฟิรสำรวจร้าน ซาฟิรบอกอยากให้ป๋าจัดบ้านแนวนี้ ป๋าเลยบอกว่าถ้าลูกหยิบของมาเล่นแล้วเก็บเข้าที่ บ้านเราก็ทำได้สบายมากเลย 






ออกจากร้านสามทุ่มกว่า ปั่นไปร้องเพลงไปแก้เหงากันสองคน ถึงในเมืองสี่ทุ่มขอไปปั่นจักรยานเล่นที่ตลาดโต้รุ่งอีกบอกให้ป๋าไปแวะที่ร้านอาให้ป๋ากินข้าวก่อน พวกเรากลับถึงบ้านเกือบห้าทุ่ม


จบ one day trip ของเราด้วยความสุขที่ครบถ้วน อิ่ม สนุก มันส์ มีสาระ



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้